ประสบการณ์งานช่าง

ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ (2)
ประสบการณ์งานช่าง / ประสบการณ์งานช่าง 1
ผมมารู้จักคำว่า ” ศาลเพียงตา ” เมื่อมีโอกาสควบคุมงานก่อสร้างธนาคารแห่งประเทศไทย ที่บางขุนพรหม ก่อนที่จะลงมือก่อสร้าง ก็ได้มีการทำพิธีขอธรณีเพื่อการก่อสร้าง ผู้รับเหมางานตอกเสาเข็มในขณะนั้นคือ บริษัทผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้าง จำกัด เมื่อได้งานแล้วผู้รับจ้างช่วงค่าแรงตอกเสาเข็ม ก็ได้เริ่มเข้ามาตัดต้นไม้

เมื่อทำการเตรียมพื้นที่สำหรับก่อสร้าง คนงานได้เริ่มตัดต้นไม้ใหญ่ ๆ โดยไม่ได้มีการสำรวจก่อน ว่ากีดขวางการก่อสร้างอาคารหรือไม่ เมื่อผมทราบเรื่อง ผมก็ได้ทักท้วงและสั่งให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที พร้อมทั้งขู่ให้คนงานและผู้ควบคุมงานของผู้รับจ้างช่วงให้ดูยางไม้แคแดงที่เขาตัดว่ายางของต้นไม้นั้น มีสีคล้ายกับเลือดแห้ง พวกคนงานกลัว จึงหยุดการตัดต้นไม้ดังกล่าว

ต่อมาผู้ดำเนินการฯ ได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญพิธีกรรมด้านนี้ปรากฎว่า เขาได้สำรวจดูพบว่า มีต้นไม้ใหญ่ ๆ อยู่ 12 ต้น เลยคิดค่าบริการ 12,000.- บาท สำหรับการทำพิธี แต่ผู้รับเหมาก็ไม่ได้ทำตามผู้ให้คำแนะนำผู้นี้ อาจจะเป็นเพราะ ค่าประกอบพิธีกรรมแพงเกินไปก็เป็นได้ ต่อมาผู้เชี่ยวชาญรายใหม่ ให้ทำการขอธรณีจากท่านเทพยดาใหญ่ท่านเดียว
มีการประกอบพิธีกันตามธรรมเนียมโดยการเชิญประทับทรง ตามความเชื่อของผู้เชี่ยวชาญท่านนั้น ผมได้เข้าร่วม สังเกตุการณ์ในพิธีกรรมครั้งนั้นด้วย ซึ่งก็ไม่มีอะไรน่าลบหลู่ คำแนะนำที่ร่างทรงแนะนำ คือให้ถือหลัก “สัจธรรมและเมตตาธรรมในการทำงาน” ต้นไม้ใดที่กีดขวางโดยความจำเป็น ก็อนุญาตให้ตัดต้นไม้นั้นได้

พอถึงช่วงเช้า ผู้รับเหมาก็ลุยงานโดยไม่ทำการสำรวจพื้นที่ โดยเริ่มต้นที่ การตัดต้นโพธิ์ใหญ่ก่อน ผมก็ได้เข้าไปทักท้วงและสั่งให้คนงานหยุดการกระทำดังกล่าวอีก แต่ไม่ได้ผล เพราะผู้ดำเนินการอ้างว่าต้นโพธิ์ อยู่ในแบบซึ่งระบุว่าเป็นต้นไม้ที่ต้องตัดออก

แต่ผมเห็นว่า ตำแหน่งที่ต้นโพธิ์ต้นนั้น ขึ้นอยู่ ไม่ได้อยู่บริเวณที่จะก่อสร้างอาคาร แต่อยู่ตรงตำแหน่งที่จอดรถในลานจอดรถ ซึ่งถ้าเอาต้นโพธิ์ไว้ ก็ต้องหาที่จอดรถเพิ่มขึ้นอีก 1 คัน หรือถ้าไม่หาเพิ่ม ก็จะต้องลดจำนวนที่จอดรถลงไป 1 คัน ซึ่งก็ไม่น่าเป็นปัญหาอะไร

แต่ผู้รับจ้าง ช่วงผู้ดำเนินการได้สั่งให้โค่นต้นโพธิ์ต้นใหญ่นั้นลงโดยไม่ฟังเหตุผลของผม และกลับบอกผมว่าหาก จะให้เขาหยุดงานก็ให้ผมสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษร โดยการออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน (Variation Order) เพียงสถานเดียวเขาจึงจะหยุด.. ผมก็ขอเวลาเพื่อที่จะติดต่อผู้ใหญ่ ก่อน แต่เขาก็ไม่ฟัง และดำเนินการต่อไป
ผ ล ป ร า ก ฎ ว่ า . . รถแทรกเตอร์ตีนตะขาบที่เข้าไปลากสลิงที่ผูกโยงไว้ ดึงต้นโพธิ์ให้โค่นเกิดติดหล่ม เขาก็ได้พยายาม เอารถดัมพ์มาดึงรถแทรกเตอร์ ซึ่งก็ทำไม่สำเร็จอีก กลับทำให้รถดัมพ์จมลงอีก ผมขอให้รายละเอียดเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งว่า ต้นโพธิ์ที่ว่านี้อยู่ริมรั้ว และริมบ่อน้ำซึ่งเป็นสระขนาดใหญ่ อยู่ติดกับวัง ของกรมพระนครสวรรค์วรพินิจ

ในตอนบ่ายผมสามารถตามผู้ใหญ่ได้ และขอให้ยกเลิกการตัดต้นโพธิ์ต้นนั้นได้สำเร็จ จึงสั่งการให้เขาย้ายรถออก ปรากฎว่า.. คนงาน สามารถย้ายรถออกมาได้โดยไม่มีปัญหา ซึ่งสร้างความแปลกประหลาดใจ ให้กับพวกคนงานเป็นอย่างมาก และจนกระทั่งทุกวันนี้ ( พ.ศ. 2543 ) ต้นโพธิ์ต้นที่ว่านี้ ก็ยังยืนต้น และให้ร่มเงาอยู่

ผมลองมาวิเคราะห์ดูด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ก็ได้ความว่า ในคืนก่อนหน้านั้น ฝนได้ตกลงมามากประกอบกับต้นโพธิ์ใหญ่ที่ว่านี้ขึ้นติดกับบ่อน้ำ ดินบริเวณนั้นจึงอุ้มน้ำมาก หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า ดินแฉะนั่นเอง ทำให้รถแทรกเตอร์ ที่มีน้ำหนักมากจึงติดหล่มไม่สามารถดึงให้ต้นโพธิ์โค่นได้ ส่วนรถดัมพ์นั้น ก็มีน้ำหนักเบากว่ารถแทรกเตอร์มาก จึงลากรถแทรกเตอร์ให้ขึ้นมาจากหล่มไม่ได้

แต่พอช่วงบ่าย ดินเริ่มแห้งแล้ว เพราะตากแดดมาครึ่งวัน จึงสามารถเคลื่อนรถทั้ง 2 คัน ออกมาได้โดยง่าย.. นี่เป็นเหตุผลที่ผมคิด ขึ้นเอง แต่ก็ไม่ได้ลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ประการใดนะครับ
อ้อ .. ตอนที่สร้างศาลเพียงตานั้น เขาสร้างเป็นศาลเทพารักษ์ชั่วคราว สูงเพียงเท่าระดับตาของผู้สร้าง เรียกว่า ทำตามตำรา ส่วนการทำศาลพระภูมินั้น มีผู้รู้ท่านบอกว่า ตามธรรมเนียมเชื่อว่า .. เทพารักษ์ คือเทพยดา ผู้รักษาต้นไม้ จึงต้องสร้างศาลด้วยไม้ ถ้าทำเป็นศาลคอนกรีตจะไม่ถูกต้องตามลักษณะ

และเมื่อตอนประกอบพิธีกรรม ผู้ประทับทรงได้บอกให้เอากิ่งมะขามที่เทพสถิตย์อยู่ มากลึงให้ส่วนหัว มีลักษณะเหมือนตัวโคนที่ใช้ในการเล่นหมากรุก เพื่อไปตั้งในศาลถาวร โดยการปักลงดิน เพื่อเอาเคล็ด เมื่อเวลาผู้รับเหมา ดำเนินการตอกเสาเข็ม เขาก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับไม้ท่อนนี้ แต่กลับเอาไปทิ้งขว้าง พอผมเตือนทีไร ก็เกิดเรื่องให้ต้องเสียของทุกครั้ง

แ ห ม . . ก็ อ ย า ก ไ ม่ รั ก ษ า สั จ ธ ร ร ม นี่ ค รั บ… ! !

อ้างอิง http://www.thaicontractors.com

ป้ายกำกับ: ,

ใส่ความเห็น