ธุรกิจอสังหาฯ

อสังหาฯ ปรับสูตรธุรกิจเน้นโครงการเล็ก-ขายเร็วผู้ประกอบการอสังหาฯ รายเล็ก-กลาง พลิกตำราบริหารต้นทุน หันจับโครงการเล็ก ใช้เม็ดเงินลงทุนต่ำ สร้างเร็ว-ขายเร็ว ลดความเสี่ยงทางธุรกิจ รับมือวิกฤติการเมือง-เศรษฐกิจ

ความเสี่ยงจากปัจจัยลบในตลาดทั้งวิกฤติการเมือง การเงิน ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง กระทบต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่ต้องเร่งปรับตัวขนานใหญ่อีกระลอกเพื่อความอยู่รอด

นายสุรินทร์ องค์วาสิฎฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส.แอล.เอสเตท จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจพัฒนาที่ดินใหม่เพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยลบในตลาด

โดยเน้นซื้อที่ดินพัฒนาโครงการขนาดเล็ก เนื้อที่ประมาณ 15-20 ไร่ พัฒนาจำนวน 200 หน่วย ซึ่งจะใช้เงินทุนหมุนเวียนไม่เกิน 150 ต่อโครงการ ทดแทนการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเดิมมีแผนซื้อที่ดินขนาด 50-100 ไร่ ก่อสร้างจำนวน 500 หน่วย

การปรับลดขนาดการพัฒนาโครงการนอกจากจะใช้เงินทุนหมุนเวียนต่ำแล้ว ยังทำให้กำหนดระยะเวลาพัฒนาโครงการชัดเจน อยู่ที่ประมาณ 18 เดือน

ล่าสุด มีแผนพัฒนาโครงการย่านเกษตร-นวมินทร์ เนื้อที่ 20 ไร่ ต้นทุนที่ดินที่พัฒนาเป็นคลัสเตอร์โฮมราคา 4.5-4.9 ล้านบาท การขายสินค้าในระดับราคาดังกล่าวต้นทุนที่ดินอยู่ที่ 2.5 หมื่นบาทต่อตร.ว. ขณะที่ต้นทุนก่อสร้างไม่เกิน 1 หมื่นบาทต่อตร.ม. หากควบคุมต้นทุนต่างๆ ดังกล่าวได้จะทำให้อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 12 %

“เวลานี้มีผู้ประกอบการที่ซื้อที่ดินไว้แล้วถอดใจไม่ทำเพราะแบกรับความเสี่ยงไม่ไหว แบงก์ไม่ปล่อยกู้โครงการ ทางออกก็คือนำที่ดินที่ซื้อไว้มาขายจึงทำให้ต้นทุนที่ดินที่จะซื้อมีราคาถูกลง“ นายสุรินทร์กล่าว

ตัวอย่างที่ดิน ย่านเกษตร-นวมินทร์ ก่อนหน้านี้มีราคาขายประมาณ 3 หมื่นบาทต่อตร.ว. แต่ขณะนี้ปรับระดับลงเหลือ 2 หมื่นบาทต่อ ตร.ว.

ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้ปรับลดขนาดพื้นที่ขาย จากเดิมบ้านเดี่ยวที่เปิดขาย เนื้อที่ตั้งแต่ 100 ตร.ว.ราคาขายเริ่มต้น 11-12 ล้านบาท ปรับลดเหลือแปลงละ 60 ตร.ว. ราคาขายเริ่มต้น 6.7 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อ

ด้านนางชลิตา อังสนันรัตนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท บ้านอังสนา จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้ต้นทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้นกว่า 25% จากเดิมคาดค่าก่อสร้างอยู่ที่ 400 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทได้แก้ปัญหาด้วยการปรับราคาขายขึ้น 10 % เพื่อชดเชยค่าก่อสร้างและรักษาอัตรากำไรให้อยู่ในระดับ 25 % ขณะเดียวกันเน้นควบคุมต้นทุนการก่อสร้าง ลดความสูญเสีย เร่งงานก่อสร้างให้เสร็จตามกำหนด
อ้างอิง http://www.thaicontractors.com

ป้ายกำกับ: , ,

ใส่ความเห็น